ในยุคที่เงินในกระเป๋า อยู่บนความไม่แน่นอน เต็มไปด้วยความเสี่ยง ผู้เชี่ยวชาญ แนะ วางแนวทางรับมือ เตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน บริหารจัดการหนี้ให้ดี มองลู่ทางสร้างรายได้ผ่านออนไลน์
สงครามการค้าโลกรอบใหม่ เสี่ยงทำเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ กระทบรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การวางแผนการเงินที่ดีจะสามารถทำให้อยู่รอดและปรับตัวได้ท่ามกลางความเสี่ยงที่กำลังจะเกิดขึ้น
การตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐฯ ภายใต้นโยบายประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ก่อให้เกิดสงครามการค้าโลกรอบใหม่ที่อาจรุนแรงมากขึ้น และจะส่งกระทบเศรษฐกิจชะลอลงหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย
ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลืออยู่ที่ 1.75% ต่อปี เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถปรับตัวรับมือกับผลกระทบจากสงครามการค้าได้ โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 68 อาจเติบโตลดลงเหลือ 1.3% กรณีที่สงครามการค้ารุนแรงมากและสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทยในอัตราสูงสุด 28% ซึ่งรวมภาษีพื้นฐานด้วย (หากเจรจาลดภาษีได้ครึ่งเดียว 18% จากที่ประกาศตอนแรก 36%)

ในอดีตหากเศรษฐกิจเติบโตน้อยลง รายได้และการบริโภคของประชาชนจะลดลง จากนั้นรายได้ของผู้ประกอบการเอกชนก็จะลดลงตาม เพราะขายสินค้าและบริการได้น้อย ต่อมาบริษัทก็จะลดการจ้างงาน เพื่อลดต้นทุนให้บริษัทยังคงมีสภาพคล่องทางการเงินที่พอเพียง แน่นอนว่าจะทำให้อัตราการว่างงานในระบบเศรษฐกิจสูงมากขึ้น และวนกลับกระทบซ้ำต่อการบริโภคครัวเรือนที่ชะลอตัวลงอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้คนใช้ชีวิตกันได้ลำบากมากขึ้น
ดังนั้นวิกฤตครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกครั้งใหม่ ที่มีความไม่แน่นอนสูง หรือคาดการณ์ได้ยาก และเหตุการณ์อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงควรจะต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอลงในอนาคต ดังนี้
- เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว จะเห็นว่ามีผู้คนมากมายที่ได้รับผลกระทบ ทั้งตกงาน ทั้งต้องเก็บตัวอยู่บ้าน ห้างสรรพสินค้า ร้านค้ามากมายก็ปิด แล้วจะใช้ชีวิตอย่างไรหากไม่มีเงินเก็บ และไม่รู้จะตกงานอีกนานแค่ไหน ดังนั้นในภาวะแบบนี้ ควรที่จะมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินมากขึ้นเป็น 6-12 เดือน เพื่อให้อยู่รอดในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจชะลอตัว เงินสำรองส่วนนี้เผื่อฉุกเฉินในกรณี เจ็บป่วย และค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดอีกด้วย
- จดบันทึกรายได้-ค่าใช้จ่าย การจดบันทึกรายได้และค่าใช้จ่ายนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว การบริหารเงินให้มีเงินเก็บ เงินสำรอง หรือหากกำลังมีปัญหาทางการเงิน โดยเฉพาะในช่วงที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ การบริหารเงินที่ดีต้องเริ่มจากการมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายก่อน แต่จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามีรายได้มากหรือน้อยกว่าค่าใช้จ่ายได้ก็ต่อเมื่อมีการจดบันทึก
- บริหารหนี้ให้ดี ในภาวะวิกฤตถ้าหากมีหนี้ต้องมีการบริหารจัดการให้ดี เพื่อไม่ให้เป็นภาระที่หนักยากเกินจะแก้ไขในอนาคต การบริหารหนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยไม่ควรมีหนี้ที่ต้องผ่อนชำระเกิน 50% ของรายได้ต่อเดือน เพื่อไม่ให้เงินตึงตัวจนเกินไป เพราะถ้าผ่อนไม่ไหวอาจทำให้ต้องมีการกู้หนี้ยืมสิน หรือหมุนเงินจากการกู้หลาย ๆ ทางเพื่อมาผ่อนชำระ และการผ่อนชำระที่ดีควรมีแค่ 30-40% ของเงินเดือนเท่านั้น
- จัดพอร์ตการออม และการลงทุน โดยการออมและการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวจำเป็นต้องมีความรู้และการศึกษาที่เพียงพอ เริ่มตั้งเป้าหมาย รวมถึงระยะเวลาที่ตั้งใจไว้ เพื่อให้สามารถกำหนดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมตามระยะเวลา โดยอาจจะทดลองแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้นอาจจะแบ่งเป็นการออม 6-12 เดือน ระยะกลางอาจจะแบ่งเป็นการออม 2-3 ปี และระยะยาวอาจจะแบ่งเป็น 5 ปีขึ้นไป ตามระยะเวลา เงินส่วนนี้ไม่ควรนำออกมาใช้หากยังไม่ถึงกำหนด เพื่อต่อยอดดอกเบี้ย หรือปันผลต่าง ๆ ที่จะได้รับ
- ปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยหลายอาชีพอาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และการปรับตัวให้เข้ากับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเป็นอีกหนึ่งที่สามารถช่วยรับมือได้ เช่น อาชีพค้าขาย ซึ่งต้องเสียค่าเช่าพื้นที่หน้าร้าน ยิ่งในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ลูกค้าหาย รายได้ลดลง แต่เงินค่าเช่าต้องเสียเท่าเดิม ซึ่งทางออกของปัญหาคือการปรับเปลี่ยนมาค้าขายผ่านออนไลน์เพิ่ม
ทั้งนี้การขายของออนไลน์มีต้นทุนที่ต่ำ ลงทุนน้อย หากจับทางถูกอาจจะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ หรือแม้แต่คนที่ยังตกงานอยู่ก็อาจจะลองหาอาชีพเสริมทางโลกออนไลน์ระหว่างรอการหางาน เพราะจะเห็นได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่หันมาทำอาชีพเสริมทางออนไลน์จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นค้าขายออนไลน์ สอนพิเศษออนไลน์ นักเขียน นักวาด และอื่น ๆ อีกทั้งอาชีพทางโลกออนไลน์นั้นอาจใช้ต้นทุนที่ไม่สูงนัก สำหรับบางคนแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็สามารถทำเงินได้แล้ว
สถานการณ์เศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลกระทบกับรายได้โดยตรงของทุกคนในเวลาอันใกล้ หากมีการเตรียมความพร้อมวางแผนบริหารจัดการเงินที่ดีล่วงหน้าทั้งด้านรายจ่าย หนี้ การออม และลงทุน ก็จะทำให้การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมีความยืดหยุ่นมากขึ้นสามารถรับมือและปรับตัวเข้ากับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงได้อยู่เสมอ
ที่มาข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), Krungsri The COACH โค้ชเรื่องเงิน ให้เป็นเรื่องง่าย