ก.คลัง เปิด 5 ข้อเสนอไทยจูงใจสหรัฐฯ ปลดล็อกภาษี 36%

“พิชัย” เผย 5 ข้อเสนอไทยเจรจาสหรัฐฯ มุ่งจับมือหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เพิ่มนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เปิดตลาดสินค้าเกษตร คุมเข้มทางผ่านสินค้าประเทศอื่น และส่งเสริมลงทุนในสหรัฐฯ

วันนี้ (14 พ.ค. 2568) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย ข้อเสนอไทยที่ยื่นให้กับสหรัฐอเมริกาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเจรจาต่อรองลดกำแพงภาษีสินค้า 36% ประกอบด้วย 5 เรื่อง

  1. ไทยจะให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อนำไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยที่จะเน้นอุตสาหกรรมการแปรรูป และอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ หรือเอไอ และจะพิจารณาในเรื่องการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งส่วนที่เป็นทางภาษีและไม่ใช่ภาษี
  2. ไทยยินดีที่จะเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ คือ สินค้าพลังงาน เกษตร เครื่องบิน และส่วนประกอบ อุปกรณ์ บริการ โดยปลัดกระทรวงพลังงาน ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าของไทย ได้เดินไปรัฐอลาสก้า เพื่อหารือกับผู้ว่าการรัฐอลาสก้าและบริษัทพลังงานสหรัฐฯ ในการหาโอกาสความร่วมมือด้านพลังวานระหว่างไทยกับสหรัฐฯ
  3. ไทยจะมีการเปิดตลาดสินค้าเกษตร เช่น ผลไม้ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นำเข้าจากสหรัฐฯ) เป็นต้น
  4. สินค้าประเทศอื่นที่ใช้ไทยเป็นทางผ่านส่งออกไปสหรัฐฯ รัฐบาลจะมีการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้าอย่างเคร่งครัด โดยที่ผ่านมาไทยได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว ซึ่งเป็นที่พอใจระดับหนึ่งของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรสหรัฐฯ
  5. ส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น ขณะนี้ นลินี ทวีสิน ประธานผู้แทนกาค้าไทย ร่วมกันกับ พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย พร้อมเอกชนชั้นนำ อยู่ระหว่างเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วม เพื่อเข้าร่วมรายการ SelectUSA Investment Summit 2025 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา เพื่อหาช่องทางในการลงทุนร่วมกัน

ทั้งนี้ สก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้กล่าวแสดงท่าทีที่เป็นบวกต่อข้อเสนอของไทยแบบเดียวกับที่กล่าวถึงข้อเสนอของอินโดนีเซีย และไต้หวัน สิ่งเหล่านี้มองว่าเป็นสัญญาณบวกจากระดับของนโยบายสหรัฐฯ และคาดว่าจะมีการพิจารณารายละเอียดข้อเสนอไทยต่อไป ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่งถึงจะได้หารือกันในระดับผู้ทำงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า สินค้าสหรัฐฯ ที่ไทยนำเข้า จะต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นของที่ต้องให้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย ช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้าแปรรูปไทยทั้งในด้านคุณภาพและราคาให้สามารถแข่งขันในตลาดได้

สำหรับกรอบเวลาการเจราของไทยคิดว่าไม่ช้า คาดว่าจะจบใกล้เคียงพร้อมกันกับหลายประเทศและสหรัฐฯ ก็คงคิดเช่นเดียวกัน ซึ่งจังหวะที่เหมาะสมที่สุด คือ ต้องเจรจาให้ทัน และต้องรู้ด้วยว่าผลเจรจาประเทศอื่นเป็นอย่างไร เนื่องจากบางประเทศก็มีสินค้าที่เหมือนกับไทย

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active

OSZAR »